ยานอวกาศมีมนุษย์

           ยานอวกาศมีมนุษย์ขับควบคุม
ยานอวกาศมีมนุษย์ขับคุม 6 โครงการ
    1. โครงการเมอร์คิวรี Mercury
    2. โครงการเจมินี Gemini
    3. โครงการอะพอลโล Apollo
    4. โครงการสกายแลบ  Skylab
    5. โครงการอะพอลโล-โซยุส  Apollo - Soyuz
    6. โครงการยานขนส่งอวกาศ  Space  Shuttle


       "เมอร์คิวรี" ปฐมบทมนุษย์อวกาศ       

       โครงการเมอร์คิวรี (Project Mercury) เป็นแผนการส่งมนุษย์ไปสู่อวกาศ โครงการแรกของนาซา ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2501 และสิ้นสุดลงในปี 2506 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งมนุษย์อวกาศขึ้นไปโคจรรอบโลก ทดสอบความสามารถและการดำรงชีวิตของมนุษย์เมื่ออยู่ในอวกาศ

       

       "เจมินี" สะพานสู่ดวงจันทร์       

       โครงการเจมินี (Gemini) เป็นโครงการส่งมนุษย์ขึ้นไปทดสอบเที่ยบินอวกาศเป็นโครงการที่ 2 ถัดจากโครงการเมอร์คิวรี เพื่อปูทางสู่โครงการถัดไป คือ โครงการอพอลโล โดยโครงการเจมินี เริ่มต้นขึ้นในปี 2505 ทดสอบรวมทั้งสิ้น 12 เที่ยวบิน ซึ่งจุดประสงค์หลัก คือทดสอบการเชื่อมต่อยานอวกาศขณะอยู่ในอวกาศ และทดสอบการเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก การเลือกสถานที่ลงจอดที่เหมาะสม และนำยานลงจอดได้ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุด

       

       "อพอลโล" สานฝันมนุษยชาติ       

       หลังจากทดลองส่งมนุษย์ขึ้นไปโคจรรอบโลก พร้อมยานอวกาศได้สำเร็จแล้วในโครงการก่อนหน้า ก็ถึงเวลาที่นาซาจะส่งนักบินอวกาศเดินทางไปยังพิภพนอกโลก โดยมีจันทร์บริวารของโลกเป็นจุดหมายปลายทาง ซึ่งเป้าหมายของโครงการอพอลโล คือ ส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์และเดินทางกลับโลกได้อย่างปลอดภัย

       นาซาก็ทำสำเร็จ เมื่อยานอพอลโล 11 สามารถพานีล อาร์มสตรอง (Neil Armstrong) ลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรกของมนุษย์โลก และช่วยเติมเต็มความฝันของมนุษยชาติ ที่มีมาช้านานได้สำเร็จ ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นผู้นำของโลกด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างเต็มภาคภูมิ       

       โครงการอพอลโลเริ่มต้นขึ้นในปี 2511 ด้วยยานอพอลโล 7 และสิ้นสุดลงในปี 2515 กับภารกิจของยานอพอลโล 17 เพื่อทำการสำรวจสภาพแวดล้อมบนดวงจันทร์ และพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์สามารถทำงานบนดวงจันทร์ได้ และค้นพบสิ่งใหม่ๆในจักรวาล
       
       "อพอลโล-โซยุซ" เชื่อมสัมพันธ์อวกาศ "สหรัฐฯ-รัสเซีย"       
       อพอลโล-โซยุซ (Apollo-Soyuz Test Project) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ซึ่งนับเป็นเที่ยวบินอวกาศนานาชาติเที่ยวบินแรก จุดประสงค์คือทำการทดสอบระบบการเชื่อมต่อยานอวกาศของทั้งสองชาติ เพื่อเปิดทางไปสู่ความร่วมมือกันด้านเทคโนโลยีอวกาศในระดับสากลต่อไปในอนาคต
       
       "สกายแล็บ" ขยายเวลาทำงานของมนุษย์ในอวกาศ       
       สกายแล็บ (Skylab) เป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของสหรัฐฯ ที่ทำให้มนุษย์สามารถขึ้นไปดำรงชีวิต และทำงานบนอวกาศได้เป็นเวลายาวนานมากขึ้น และยังช่วยให้มนุษย์ขยายขอบเขตองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ และอวกาศมากยิ่งขึ้น กว่าสังเกตการณ์อยู่บนพื้นโลก       
       มนุษย์อวกาศได้ใช้สถานีสกายแล็บเป็นสถานที่ศึกษาวิจัยเรื่องต่างๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 300 การทดลอง รวมระยะเวลาทั้งหมด 171 วัน 13 ชั่วโมง ก่อนที่สกายแล็บจะถูกปลดระวางและตกลงสู่โลกบริเวณมหาสมุทรอินเดียในวันที่ 11 ก.ค. 2522
       
       "กระสวยอวกาศ" ระบบขนส่งทางอวกาศ       
       ในปี 2524 นาซาได้เริ่มโครงการระบบขนส่งทางอวกาศ ด้วยยานอวกาศที่มีรูปร่างคล้ายกระสวย ซึ่งเป็นยานชุดเดียวกับที่ยังใช้งานอยู่ในปัจจุบัน โดยเริ่มต้นด้วยการทดสอบเที่ยวบินอวกาศของยานโคลัมเบีย (Columbia) เป็นเที่ยวบินแรก ก่อนที่จะใช้งานในการขนส่งดาวเทียมและอื่นๆ ซึ่งยานอวกาศในชุดกันนี้มีทั้งหมด 5 ลำ ได้แก่ ยานโคลัมเบีย, ชาเลนเจอร์ (Challenger), ดิสคัฟเวอรี (Discovery), แอตแลนติส (Atlantis) และเอนเดฟเวอร์ (Endeavour)
       
       จับมือกันอีกครั้งก่อนสร้าง "สถานีอวกาศนานาชาติ"        
       โครงการชัทเทิล-มีร์ (Shuttle-Mir Program) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซีย เริ่มต้นขึ้นในปี 2535 เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและการศึกษาทดลองทางวิทยาศาสตร์ร่วมกันบนสถานีอวกาศมีร์ (Mir) ของรัสเซีย โดยนำกระสวยอวกาศของสหรัฐฯ เข้าเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศของรัสเซีย ซึ่งความร่วมมือกันในครั้งนี้ทำให้สหรัฐฯ ได้บทเรียนอันมีค่าที่นำไปสู่การสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) ในเวลาต่อมา
       
       นานาประเทศร่วมสร้างแล็บอวกาศ "ISS"       
       สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) เริ่มต้นสร้างขึ้นในปี 2541 และมีกำหนดสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2554 ด้วยความร่วมมือกันระหว่างนาซา, องค์การอวกาศรัสเซีย (Russian Federal Space Agency: RKA), องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (Japan (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA), องค์การอวกาศแคนาดา (Canada (Canadian Space Agency: CSA) และองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency: ESA) 16 ประเทศเพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติงานวิทยาศาสตร์นอกโลก และการศึกษาวิจัยต่างๆ ในสภาวะไร้น้ำหนัก ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลใหม่มากมายที่อาจหาไม่ได้บนโลก